10 เส้นทางจักรยานในไทย และต่างประเทศ ที่น่าสนใจ 10 เส้นทางจักรยานในไทย และต่างประเทศ ที่น่าสนใจ

10 เส้นทางจักรยานในไทย และต่างประเทศ ที่น่าสนใจ

การปั่นจักรยานเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสุดฮอตที่มาแรง ด้วยเสน่ห์ที่น่าหลงใหลของกิจกรรมนี้ที่ได้ทั้งความเพลิดเพลินในการชมวิวทิวทัศน์ระหว่างทาง ความสนุกสนาน และถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อหัวใจและกล้ามเนื้อ รวมทั้งยังเป็นการลดการใช้น้ำมัน ประหยัดพลังงาน ช่วยรักษาสมดุลให้สิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของนักปั่นเอง จำเป็นต้องเข้าใจประเภทของทางจักรยาน การอ่านป้ายทางจักรยานต่างๆ ว่าหมายถึงอะไร ดังนั้น บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเลนจักรยาน มาให้ได้อ่านกัน

ประเภททางจักรยานต่างๆ

สำหรับประเภทเลนจักรยานและการออกแบบก่อสร้างในประเทศไทย ถูกดัดแปลงมาจากหลักเกณฑ์ของออนตาริโอ ประเทศแคนาดา เพราะเป็นหลักเกณฑ์ที่มีความยืดหยุ่น และเน้นการพิจารณาจากสภาพแวดล้อมมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งทางจักรยานสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้

Shared Lane

ในพื้นที่แคบหรือในเขตที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการทำเลนจักรยานแยกออกมา มักเลือกใช้เลนแบบรวมอย่าง Shared Lane โดยถนนในพื้นที่นั้นๆ จะไม่มีการแบ่งพื้นสำหรับจักรยาน แต่จะมีป้ายหรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าสามารถใช้ถนนร่วมกันได้ ซึ่งการใช้งานแบบนี้เหมาะกับเส้นทางที่รถน้อย ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์จะต้องต่ํากว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่จักรยาน

Wide curb Lane

Wide curb Lane ใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่นๆ แต่จะสร้างช่องจราจรด้านริมให้กว้างกว่าปกติ เช่น ช่องจราจรติดขอบถนนและที่จอดรถริมทาง สำหรับเส้นทางจักรยานแบบ Wide curb Lane เหมาะกับพื้นที่ที่มีความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ระหว่าง 30-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Cycle Lane

Cycle Lane เป็นเลนจักรยานที่จัดทำขึ้นบนผิวจราจรเดียวกับรถยนต์ หรือใช้ไหล่ทาง แต่จะมีเส้นจราจร ป้าย และสีเป็นตัวบ่งบอกให้รู้ว่าเป็นช่องทางสําหรับจักรยานโดยเฉพาะ แต่จะไม่มีแนวหรืออุปกรณ์กั้น ส่วนใหญ่แล้วทางแบบนี้มักจะอยู่ในพื้นที่ที่มีความเร็วของการจราจรระดับปานกลาง โดยความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์จะอยู่ระหว่าง 50-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Multi-Use Path

ในพื้นที่ที่มีรถยนต์มากและใช้ความเร็วสูง หากใช้ทางจักรยานร่วมกับทางรถยนต์อาจทำให้ผู้ขับขี่จักรยานไม่มีความปลอดภัยในการใช้ถนน จึงจำเป็นต้องทำทางที่แยกกันอย่างชัดเจน ซึ่งเลนจักรยาน Multi-use Path เป็นเส้นทางที่จัดพื้นที่ไว้สำหรับจักรยานโดยเฉพาะ พร้อมทั้งสร้างแนวหรืออุปกรณ์กั้น และในบางครั้งเลนประเภทนี้ยังเป็นเลนสำหรับคนเดินถนนได้อีกด้วย

พาชมเส้นทางจักรยานน่าปั่นในไทย และต่างประเทศ

นอกจากตามสวนสาธารณะหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่สามารถปั่นจักรยานได้แล้ว ยังมีเส้นทางปั่นจักรยานอีกหลายแห่ง ที่สวยสะดุดตา มาพร้อมบรรยากาศดีๆ เพื่อให้ผู้รักการปั่นได้เพลิดเพลินไปกิจกรรมอันแสนสนุกนี้ โดย TOA ได้นำเส้นทางจักรยานน่าปั่นทั้งของไทยและต่างประเทศมาให้ชมกัน

เส้นทางจักรยานในไทย


1.เส้นทางปั่นจักรยานสวนสาธารณะริมกก เชียงราย

เริ่มต้นกันด้วยเส้นทางปั่นจักรยานสวนสาธารณะริมกก จังหวัดเชียงราย มีความยาวกว่า 1.8 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางจักยานแบบ Multi-Use Path ที่ใช้สำหรับปั่นจักรยานโดยเฉพาะ โดยแบ่งเป็นสองเลนอย่างชัดเจน ทำให้นักปั่นขับสวนกันได้อย่างปลอดภัย พร้อมบรรยากาศริมแม่น้ำที่สวยงาม และมีความผ่อนคลาย

2.เส้นทางปั่นจักรยานเขื่อนกระเสียว สุพรรณบุรี

เขื่อนกระเสียว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีวิวทิศทัศน์ และธรรมชาติที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ โดยบริเวณสันเขื่อนมีการสร้างทางจักรยานซึ่งมีระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ขณะปั่นจักรยานก็จะได้ชมวิวที่งดงามของธรรมชาติ ทั้งวิวแม่น้ำและพื้นป่าที่เขียวชะอุ่ม พร้อมทั้งรับอากาศบริสุทธิ์ที่สามารถสูดได้อย่างเต็มปอด

3.เส้นทางปั่นจักรยานสุวรรณภูมิ

สนามปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต หรือหลายๆ คนรู้จักในชื่อเส้นทางปั่นจักรยานรอบสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีลู่ปั่นจักรยานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นเลนจักรยานสีฟ้าสำหรับความเร็วปกติ และสีม่วงสำหรับนักปั่นที่อยากจะปั่นด้วยความเร็วสูง นอกจากนี้ยังมีเส้นทางระยะสั้น 1.6 กิโลเมตร และพื้นที่สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 12 ขวบอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ปั่นจักรยานที่มีความครบครัน สวยงาม บรรยากาศดี

4.เส้นทางปั่นจักรยานชมกรุง รอบเกาะรัตนโกสินทร์

สำหรับเส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์มีระยะทางรวม 8 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นจากลานคนเมือง หรือศาลาว่าการกรุงเทพฯ ปั่นลัดเลาะไปตามถนนในเมืองกรุง จนไปถึงบริเวณรั้วกำแพงของพระบรมมหาราชวัง และปั่นลัดเลาะไปเรื่อยๆ จนมาสิ้นสุดที่สวนสันติชัยปราการ ถือเป็นเส้นทางที่ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ และร้านอาหารขึ้นชื่อมากมาย สำหรับใครที่อยากจะใช้เส้นทางนี้เพื่อปั่นเที่ยวในเมือง ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

5.เส้นทางปั่นจักรยานเฉลิมบูรพาชลทิต

นักปั่นสาย Touring Bike ที่ชอบปั่นระยะทางไกล เส้นทางเฉลิมบูรพาชลทิตถือเป็นเส้นทางที่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างแน่นอน ด้วยเส้นทางที่ยาวถึง 111 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจาก อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ผ่านเข้าสู่บริเวณอ่าวไข่ จังหวัดระยอง ยาวไปจนถึงแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี โดยจะมีไฮไลต์อยู่ที่ช่วงเนินทางพญา ซึ่งเป็นทางจักรยานเลียบชายทะเลที่มีความสวยงามที่สุดในภาคตะวันออก พร้อมด้วยบรรยากาศสดชื่น ที่ช่วยให้ได้รับลมทะเลขณะปั่น

เส้นทางจักรยานในต่างประเทศ

มิลาน อิตาลี

1.มิลาน อิตาลี

เมืองมิลาน ประเทศอิตาลีเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีโปรเจกยกระดับการใช้จักรยาน โดยมีการวางแผนที่จะทำให้จักรยานเป็นรูปแบบการคมนาคมท้องถิ่นที่สะดวกที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงให้ประชาชนหันมาใช้จักรยาน โดยหวังจะเป็นแนวทางในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้พื้นที่ภายในเมืองมิลานหลายๆ แห่งมีทางจักรยานโดยเฉพาะ

ลอนดอน อังกฤษ

2.ลอนดอน อังกฤษ

ลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีการปรับปรุง พัฒนาเส้นทางจักรยาน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนที่อยากจะหันมาใช้จักรยานในการคมนาคมในชีวิตประจำวัน ซึ่งภายในเมืองลอนดอนนั้นมีทั้งเลนจักรยานที่แชร์กับยานพาหนะอื่นๆ และเส้นทางสายหลักระยะไกล ซึ่งเป็นทางที่เชื่อมโยงพื้นที่รอบๆ เข้าสู่ใจกลางเมืองลอนดอน จึงมีความสะดวกในการใช้งาน แถมปลอดภัยด้วย

เบอร์ลิน เยอรมนี

3.เบอร์ลิน เยอรมนี

เยอรมันนีเยอรมนีถือเป็นหนึ่งในประเทศแถบยุโรปที่มีการใช้จักรยานมากที่สุดในโลก และยังเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการปั่นจักรยานด้วย ทำให้ประเทศนี้มีเส้นทางการปั่นจักรยานที่สะดวก และปลอดภัยในการใช้งาน ที่สำคัญในเมืองเบอร์ลินยังมีเส้นทางการปั่นจักรยานชมเมือง ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 800 ปี โดยจะผ่านตั้งแต่ย่านประวัติศาสตร์เก่าแก่ ไปจนถึงพื้นที่สมัยใหม่ในเมือง

อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์

4.อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์

อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่า เมืองหลวงของจักรยานโลก ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเมืองแห่งจักรยาน การขี่จักรยานในเมืองอัมสเตอร์ดัมจึงเป็นเรื่องที่สะดวกสบาย และง่ายมากๆ แถมยังมีความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะมีเลนเฉพาะจักรยานอยู่ทั่วทั้งเมือง ทำให้มีเส้นทางให้เลือกปั่นหลายเส้นทาง

เกียวโต ญี่ปุ่น

5.เกียวโต ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเลนจักรยานที่สะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะเส้นทางการปั่นในเมืองเกียวโต ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศญี่ปุ่น ภายในเมืองเป็นแหล่งที่มีทั้งศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนา รวมทั้งมีสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่มีความเรียบง่าย แต่ก็สวยงามในตัวเอง การปั่นจักรยานในเมืองเกียวโตจึงทำให้ได้สัมผัสกับกลิ่นอายของอดีตที่มีเสน่ห์ พร้อมได้ชมเมืองที่มีความสวยงามไปพร้อมๆ กัน

สีทาทางจักรยาน เทคโนโลยีจากสนามแข่ง

สีทาทางจักรยาน เทคโนโลยีจากสนามแข่ง

หลังจากที่ได้ชมความงามของเลนจักรยานในที่ต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศกันไปแล้ว ทาง TOA จะพาไปรู้จักกับสีทาทางจักรยาน ทีโอเอ ไบค์เลน สีสำหรับสนามจักรยาน สูตรน้ำ เป็นสีอะคริลิกชนิดพิเศษ ที่มีการผสมผงสีที่มีคุณสมบัติป้องกันรังสียูวี ทำให้สีไม่ซีดจางได้ง่าย ที่สำคัญฟิล์มสียังเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการการรับน้ำหนัก และมีการเสียดสี อย่างทางจักรยานและสนามกีฬา ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวคอนกรีต หรือพื้นผิวบิทูแมน เช่น ขอบทางเท้า พื้นผิวถนนซีเมนต์ หรือพื้นผิวถนนลาดยางมะตอยฟิล์มสีก็สามารถยึดเกาะได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น

  • ทนทานต่อการเสียดสีจากล้อจักรยาน
  • ฟิล์มสีมีความยืดหยุ่นและสามารถยึดเกาะกับพื้นผิวได้เป็นอย่างดี
  • สามารถป้องกันน้ำได้ดีเยี่ยม
  • ทาได้ในพื้นผิวที่หลากหลาย ทั้งพื้นผิวคอนกรีตและยางมะตอย
  • มีคุณสมบัติที่แห้งเร็ว ที่สำคัญกลิ่นไม่ฉุน

วิธีการใช้งาน

  • เตรียมพื้นผิว ขั้นตอนการเตรียมพื้นผิว สำหรับพื้นผิวใหม่ทำความสะอาดแล้วทิ้งไว้ให้แห้งสนิทค่อยทาสี ส่วนพื้นผิวใหม่หากเสื่อมสภาพหรือพื้นผิวเป็นชอล์คให้ใช้แปรงในลอนขัดทำความสะอาด หากมีคราบตะไคร่น้ำหรือเชื้อราให้กำจัดด้วย ทีโอเอ 113 ไมโครคิล แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง ก่อนปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง
  • ลงสีรองพื้น ก่อนทาสีทับหน้าควรลงสีรองพื้นทีโอเอ เอ็กซ์ตร้า เว้ท ไพร์เมอร์ จำนวน 1 เที่ยว เพื่อช่วยเพิ่มการยึดเกาะ ระบายความชื้นไม่ทำให้เกิดเชื้อรา
  • สีทาทับหน้า หลังลงสีรองพื้นเรียบร้อยแล้ว ให้ลงทีโอเอ ไบค์ เลน เพ้นท์ จำนวน 3 เที่ยว

ป้ายทางจักรยานพื้นฐานที่ควรรู้

สำหรับป้ายทางจักรยานและเครื่องหมายจราจร มีด้วยกันกลายรูปแบบ ดังนี้

  • ป้ายช่องเดินทางรถจักรยาน (บ.52) ใช้สำหรับติดตั้งบนทางหลวง หรือถนนที่กฏหมายกำหนดว่าเป็นช่องการจราจรสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ โดยจะติดที่จุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดของเส้นทาง
  • ป้ายทางเฉพาะจักรยาน (น.30) เป็นป้ายที่บ่งบอกว่าเป็นทางสำหรับผู้ขับขี่จักรยานโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ หากเป็นส้นจราจรจักรยานและสัญลักษณ์ต่างๆ จะใช้สีขาวในการทำสัญลักษณ์ เพื่อให้มองเห็นได้ง่ายและชัดเจน

มาตราฐานทางจักรยานที่ควรรู้

การทำทางจักรยานนอกจากต้องเลือกใช้สีที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังต้องออกแบบให้ได้มาตราฐานทางจักรยาน ทั้งความชัน ความกว้าง การระบายน้ำ และแสงสว่าง โดยทางจักรยานในประเทศไทยจะใช้หลักการของ AASHTO (1999) Austroads (2011) Ontario Ministry of Transport (2014) และ Sustrans(2014) ประยุกต์เข้าด้วยกัน ดังนี้

ความลาดชัน

ควรเป็นทางราบและหลีกเลี่ยงทางชัน แต่หากจำเป็นต้องสร้างเส้นทางที่มีความลาดชัน ความลาดชันที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 3%-5% และจะต้องจัดให้มีทางราบ 20 เมตร เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้พัก ส่วนบริเวณที่เป็นทางโค้งรัศมีแคบ จะต้องขยายความกว้างเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน นอกจากนี้ยังต้องจัดให้มีทางหลบฉุกเฉินด้วย สำหรับความยาวที่เหมาะสมกับความชันระดับต่างๆ มีดังนี้

  • ความชัน 5% เส้นทางควรยาวไม่เกิน 110 เมตร
  • ความชัน 6% เส้นทางควรยาวไม่เกิน 80 เมตร
  • ความชัน 7% เส้นทางควรยาวไม่เกิน 60 เมตร
  • ความชัน 8% เส้นทางควรยาวไม่เกิน 40 เมตร
  • ความชัน 9% เส้นทางควรยาวไม่เกิน 30 เมตร
  • ความชัน 10% เส้นทางควรยาวไม่เกิน 20 เมตร
  • ความชันมากกว่า 11% เส้นทางควรยาวไม่เกิน 15 เมตร

ความกว้าง

ค่าความกว้างขึ้นอยู่กับประเภทของทางจักรยาน โดยความกว้างต่ำสุดของเลนจักรยานแต่ละประเภทมีดังนี้

  • Shared Lane 4.3 เมตร
  • Wide Curb Lane 4.0 เมตร
  • Cycle Lane 1.5 เมตร
  • Multi-use Path 3.0 เมตร

ลาดหลังทาง และการระบายน้ำ

สำหรับการออกแบบลาดหลังทางเพื่อระบายน้ำบนผิวทาง ควรมีค่าไม่เกิน 4% เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมขัง ส่วนค่าลาดหลังของทางจักรยานจะใช้ค่า 2%-4% ในกรณีที่ใช้ร่วมกับคนเดินควรมีค่าไม่เกิน 2.5%

แสงสว่าง

กรมทางหลวงชนบทมีคำแนะนำให้ติดตั้งระบบไฟฟ้าให้แสงสว่าง โดยค่าความสว่างจะแตกต่างกันออกไปตามพิ้นที่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่

สรุป

กิจกรรรมปั่นจักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ได้ทั้งความสนุกสนาน พร้อมชมวิวทิวทัศน์ในเส้นทางต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน สำหรับทางจักรยานมีหลายแบบทั้งเลนจักรยานที่ใช้ช่องทางจราจรร่วมกับยานพาหนะอื่น หรือเป็นเลนจักรยานเฉพาะเลย ซึ่งในทางจักรยานก็จะมีป้ายทางจักรยานทำเป็นสัญลักษณ์โดยใช้สีขาวทาลงไปบนพื้นถนน เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าจักรยานสามารถใช้เส้นทางนี้ได้


16982 Views